Tuesday, December 12, 2006

วิทยาศาสตร์กับศาสนา

ทำไมเราจึงคิดว่า วิทยาศาสตร์กับศาสนา เป็นคนละเรื่อง วันนี้จึงขอยกคำแปลของไอน์สไตน์ ที่กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างเฉียบขาด มาให้เรา ๆ ท่านๆ ทั้งหลายได้อ่านกัน เพื่อจะตอบคำถามที่ว่า พวกที่ทำงานวิจัยกันนี้มีศาสนากันอยู่หรือเปล่า ศาสนาในแง่มุมไหนที่เราเพรียกหากันอยู่

- วิทยาศาสตร์จะได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ ก็โดยบุคคลที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความใฝ่ปรารถนาต่อสัจธรม และปัญหาที่เข้าใจถึงความจริง นักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงทุกคน มีความเชื่ออย่างลึกซึ้งว่ากฏเกณฑ์ที่กำกับสากลพิภพนี้เป็นสิ่งที่มีเหตุผล และสามารถเข้าใจได้ด้วยเหตุผล

- บุคคลที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จในทางสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ในทางวิทยาศาสตร์ทุกคน มีความเชื่อมั่นในศาสนาอย่างแท้จริงว่า สากลจักรวาลของเรานี้เป็นสิ่งท่มีความสมบูรณ์ และสามารถรับรู้ได้ด้วยกรแสวงหาความรู้อย่างมีเหตุผล ซึ่งเป็นความรู้สึกอันแรงกล้าที่ทำให้เกิดความมุ่งมั่นอุทิศตนอย่างไม่ละละ และความมุ่งมั่นอุทิศตนนี้อย่างเดียวแท้ๆ ที่ทำให้คนสามารถบรรลุผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของเขาได้

- ในยุควัตถุนิยมของเราทั้งหลายนี้ ผู้ทำงานทางวิทยาศาสตร์อย่างเอาจริงเอาจัง เป็นคนจำพวกเดียวเท่านั้นที่มีศาสนาอย่างลึกซึ้ง

- วิทยาศาสตร์เป็นการคิดอย่างมีระเบียบวิธี ในกรค้นหาความสัมพันะอย่างมีกฏเกณฑ์ ระหว่างประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส วิทยาศาสตร์พยายามใช้วิธีคิดอย่างเป็นระบบ ประมวลปรากฏการณ์เท่าที่รับรู้ได้ในโลกนี้ ให้เข้ามาอยู่ภายในความสัมพันธ์อันทั่วตลอดถึงกันหมด เท่าที่จะเป็นไปได้ โดยมีเป้าหมายที่จะวางกฏเกณฑ์ทั่วไป ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ต่อกัน ระห่างวัตถุและเหตุการณ์ทั้งในกาละเทศะ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า มีจุดมุ่งหมายที่จะค้นพบกฏเกณฑ์ ซึ่งทำให้สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์แห่งขอ้เท็จจริงต่างๆ ตลอดจนทำนายความเป็นไปได้ของสิ่งเหล่านั้นได้ คือพยายามประสานสิ่งหลากหลาย ให้โยงเข้าเป็นหน่วยรวมหนึ่งเดียว อย่างเป็นเหตุเป็นผล

- ส่วนศาสนานั้นว่าด้วยจุดหมายปลายทาง(แห่งความใฝ่ปรารถนาของมนุษย์) การกำหนดคุณค่า(แห่งการคิด และการกระทำของมนุษย์) พร้อมทั้งรากฐานทาง
อารมณ์แห่งความคิด และการกระทำของมนุษย์นั้น ในที่นี้ ตัวความปรารถนาที่จะเข้าถึงจุดหมายปลายทาง หรือการใฝ่ปรารถนารู้แจ้งสัจธรรมต่างๆ เป็นความรู้สึกทางศาสนาทั้งนั้น ศาสนาตั้งจุดหาย พร้อมทั้งคุณค่าที่สอดคล้องกับจุดหมายขึ้นมา แล้วการตั้งจุดหมาย พร้อมทั้งคุณค่าที่สอดคล้องกับจุดหมายนั่นแล่ะ ที่ทำให้ชีวิตและกิจกรรมของเรามีความหมาย

- วิทยาศาสตร์เกิดขึ้นได้ โดยเป็นการสร้างสรรค์ของคนที่เต็มเปี่ยมด้วยความใฝ่ปรารถนาต่อสัจธรรม และปัญญาซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดจากศาสนา ส่วนศาสนานั้นก็เปลื้องมนุษย์จากพันธนาการแห่งตัณหา และศาสนาที่แท้ก็ถูกทำให้ประเสริฐ และลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์

- Science without religion is lame,
religion without science is blind. (p.46)

วิทยาศาสตร์ไร้ศาสนาก็เหมือนคนขาเป็นง่อย ส่วนศาสนาที่ไร้วิทยาศาสตร์ก็เหมือนคนตาบอด


อ้างอิงจาก
พระธรรมปิฏก (2541). การศึกษา : เครื่องมือพัฒนาที่ยังต้องพัฒนา. กรุงเทพฯ :มูลนิธิพุทธธรรม.

No comments: